ภาพรวมของคนอีสานคือ พูดลาว (ภาษาถิ่น) และกินข้าวเหนียว เป็นเอกลัษณ์โดดเด่นประจำภาค แต่คนสุรินทร์ หรือคนจังหวัด สุรินทร์ ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งที่ในภาคอีสานกลับแตกต่างออกไป เพราะสุรินทร์พูดเขมร กินข้าวเจ้า และมีวัฒนธรรมคล้ายเขมร
ในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อครั้งนครจำปาศักดิ์เป็นกบฏต่อไทย เจ้าพระยาจักรีเกลี้ยกล่อมชาวเขมรตามป่าดงเมืองประทายสมันต์ (pratajisaman) และเมืองใกล้เคียงเข้ามาขึ้นต่อกรุงธนบุรี เมืองประทายสมันต์ก็คือ เมืองสุรินทร์นั่นเอง เป็นภาษาขอมโบราณ เพราะพื้นที่บริเวณนี้เคยอยู่ในอิทธิพลของขอมมาก่อน
นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีสันนิษฐานว่า พื้นที่ภาคอีสานเคยเป็นที่อยู่ของพวกละว้าและลาว มีแคว้นเขตปกครองเรียกว่า อาณาจักรฟูนัน ต่อมาขอมเข้ามามีอำนาจแทนและตั้งอาณาจักรเจนละหรืออิศานปุระ ภายหลังแตกแยกเป็น 2 แคว้น
1. ทางแผ่นดินสูงตอนเหนือ ได้แก่ ภาคอีสานและฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ลาว) เรียกว่า แคว้นพนมหรือเจนละบก เป็นขอมและเผ่านิกริโต
2. แผ่นดินต่ำตอนใต้จดชายทะเล (เขมร) เรียกว่า เจนละน้ำ เป็นชนเผ่าใหม่ที่เกิดจากการผสมระหว่างชาวพื้นเมืองเดิมกับเผ่าเนกริโต (Negrito) และเผ่าเมลาเนเชียน (Melanesian)
ชาวเจนละบก มีอิทธิพลในดินแดนที่ราบสูงอีสาน มีการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ความเจริญรุ่งเรืองและมีอำนาจในบริเวณนี้ แต่ภายหลังเจนละบกต้องตกเป็นเมืองขึ้นของเจนละน้ำ นานๆ เข้าก็กลายเป็นขอมปนเขมร ล่วงมาหลายชั่วอายุคนก็กลายเป็นเขมรไปโดยสมบูรณ์ พวกขอมที่อยู่ในถิ่นเดิมก็ค่อยๆ หมดไป บริเวณที่ราบสูงอีสานจึงมีสภาพเป็นเมืองร้าง และเป็นเหตุให้ชาวขอมหายไปจากโลก วัฒนธรรมขอมกับเขมรจึงปะปนกันอยู่ด้วย เช่นนี้จึงพอกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมของชาวสุรินทร์ ก็คือ วัฒนธรรมเขมรที่สืบทอดมาจากชาวขอมโบราณนั่นเอง
มูลเหตุของเรื่องอาจเป็นเพราะว่า บรรพบุรุษของชาวสุรินทร์นั้นเป็นชาติพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการผสมระหว่างชาวกูยกับชาวเขมร สิ่งยืนยันในเรื่องนี้ก็คือ ข้อความจากหนังสือที่ฝรั่งนักชาติวงศ์วิทยาแต่งขึ้นหลายเล่ม ได้กล่าวว่า มีกลุ่มชนพวกหนึ่งเรียกว่า กูย มีเลือดผสมระหว่างพวกเวดดิด (Weddid Proto Australian) กับพวกเมลาเนเชียน (Melanesian) มีรูปร่างลักษณะคล้ายเขมร พูดภาษาผสมที่เกิดจากตระกูลภาษามอญกับตระกูลภาษาเขมร
เดิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณตอนเหนือของเมืองเสียมราฐ กำปงธม ก่อนที่ชาวไทยและชาวเขมรจะเข้ามาอยู่ในบริเวณนั้นเสียอีก ชาวไทยเรียกว่า ส่วย (เป็นพวกส่งส่วยให้ไทย) แต่ฝรั่งเศสเรียกตามภาษาเขมรว่า กวย ภายหลังเมื่อได้แต่งงานกับชาวเขมรและลาวที่ตามเข้ามาอยู่ด้วย มีลูกหลานออกมา ไทยจึงเรียกกูยที่ผสมกับเขมรว่า ส่วยเขมร เรียกกูยที่ผสมกับลาวว่า ส่วยลาว
สาเหตุสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมของชาวสุรินทร์โน้มเอียงไปทางเขมรนั้น กล่าวกันว่า เมื่อครั้งอพยพจากเมืองอัตตะปือ เมืองแสนปางหรือเสียมปัง แคว้นจำปาศักดิ์ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง มาตั้งเมืองในที่ตั้งของจังหวัดสุรินทร์ในระยะแรกๆ นั้น มีแต่พวกกูยทั้งเมืองและมีพวกเขมรอพยพมาอยู่บ้างประปราย ภายหลังพวกกูยเข้าเป็นข้าขอบขัณฑสีมาไทยในสมัยกรุงธนบุรี ทั้งได้ร่วมปราบปรามเขมร กัมพูชาที่ก่อการจลาจลได้ชัยชนะกลับมา พวกเขมรก็อพยพมาอยู่ในเมืองนี้มากขึ้น นานเข้าก็มีการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างกัน และให้ลูกหลานแต่งงานกัน ทำให้มีชาวเขมรอพยพตามเข้ามามากขึ้น วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวกูยจึงผันแปรไปทางเขมร พวกกูยก็ถูกกลืนเขมรไปค่อนเมืองสุรินทร์ แต่ก็เป็นเขมรสูงเป็นวัฒนธรรมของขอมโบราณที่ไม่เหมือนเขมรต่ำในกัมพูชา
ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จะทำให้เราเข้าใจจังหวัดสุรินทร์ได้พอประมาณ ทุกการเข้าอ่านจะต้องใช้วิจารณญาณ เพราะข้อมูลผ่านมาหลายปีย่อมมีตกหล่นหรือปนข้อเท็จจริงไปบ้าง
ขอขอบคุณผู้สนับสนุน WebSite ของเรา
#โรงแรมอารีน่า (Arena Hotel Surin)
Website : http://www.arenahotelsurin.com/
FB : https://www.facebook.com/ArenaHotel.Surin/
โทร : 044-519555 โทร : 063 356 2455
#โรงแรมมาติน่า (Martina Hotel Surin)
website : http://www.martinahotelsurin.com/
FB : https://www.facebook.com/MartinaHotelSurin
โทร : 044 713 555 มือถือ : 086 469 6545